เราจะพูดเรื่องเดียวกันยังไง ให้เรื่องของเราโดดเด่นกว่าของคนอื่น?
เรื่องหนึ่งเรื่อง...มีหลายมุมมอง มีระดับความลึกมากมายให้เลือกเล่า แต่จะเจอหรือเปล่ามันขึ้นอยู่กับเรา ว่าเราขุดส่วนนั้นเจอมั้ย แล้วเข้าใจมันได้ถ่องแท้จริงหรือเปล่า แล้วจะนำเสนอมันยังไงให้น่าสนใจที่สุด
คนเราถ้าจะอยากพูด ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่การเป็นนักพูดนั้นต้องมีประเด็นมาให้คิด มีเรื่องราวน่าสนใจมาให้ฟังและเรื่องราวเหล่านั้นต้องมีที่ข้อมูล มีที่มา มีการถูกศึกษามาก่อน
ซึ่งวิธีเก็บข้อมูลที่ง่ายที่สุดที่มนุษย์ทุกคนทำได้ คือ “ฟัง”
ฟังให้มาก...ฟังแล้วจับใจความ ...ฟังแล้ววิเคราะห์ตาม ยิ่งฟังเท่าไหร่ก็เท่ากับมีข้อมูลมาก มีข้อมูลมากเท่ากับมีตัวแปรที่สามารถนำมาเล่นในเรื่องเล่าได้ ยิ่งฟังมากเท่ากับยิ่งมีประสบการณ์ ยิ่งได้เปรียบ
จริง ๆ แล้วมันไม่ยากเลยที่ใครสักคนจะเปิดใจเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง แค่เราต้องเปิดใจของเราก่อน ตั้งใจฟังเวลาเข้าพูด...เพราะทุกเรื่องเล่ามีคุณค่า มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน คนขับแท็กซี่ พนักงานบริษัท ต่างก็มีเรื่องราวให้ถ่ายทอดออกมาทั้งนั้น เราแค่ต้องฟังให้ดี และนำเสนอมันออกมาให้ดีที่สุด
การฟังที่ดีนำไปสู่ Feedback ที่ดี... Feedback ที่ดีนำไปสู่ทัศนคติที่ดี
การฟังที่ดี... ฟังอย่างใส่ใจ ฟังว่าเขาอยากจะสื่อว่าอะไรกันแน่ ฟัง...และเชื่อว่าเรื่องที่เขากำลังเล่ามันมีด้านดี ๆ อยู่ แค่มีบางจุดที่ต้องการปรับปรุงเท่านั้น
ทัศนคติของเรามันสำคัญมาก เพราะมันเปรียบเหมือนแว่นล่องหนที่เราใส่ตลอดเวลา ถ้าแว่นเราสกปรกขุ่นมัว เราก็จะเห็นแต่ข้อเสียของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากเราไม่ยอมเช็ดแว่นขุ่น ๆ นั่น เราก็จะไม่มีวันได้เรียนรู้เรื่องราวดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ตามเรื่องราวต่าง ๆ ดังนั้นการฝึก Feedback เชิงสร้างสรรค์ ใช้คำว่าอยากอยากเสริมแทนคำว่าไม่ชอบเลย จึงเป็นการฝึกนิสัยอย่างนึง ที่ช่วยให้เรามองหาข้อดีจากสิ่งต่าง ๆ ถ้าเราเป็นคนที่ทัศนคติดี เราก็จะเห็นในสิ่งดี ๆ เห็นทางที่ควรแก้ไขให้ถูกต้อง
เรื่องให้พูดพร้อม... ข้อมูลพร้อม... แล้วองค์ประกอบของเรื่องล่ะ?
ถ้าอ้างอิงจากอริสโตเติล นักปราชณ์สุดเลื่องชื่อในยุคกรีก เรื่องเล่าที่ดีต้องมีองค์ประกอบทั้งสิ้น 3 อย่าง
1.อารมณ์... คนที่พูดได้ดีคือคนที่มีอารมณ์โกรธ....หรือก็คือมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่พูด หรือไม่ก็ถ้าไม่มีก็สร้างมันขึ้นมา อย่าง Bill Gate ที่สามารถสร้างความกลัวให้ผู้ชมได้อย่างฉับพลันขณะกำลังพูดเรื่องมาลาเรียอยู่ โดยการปล่อยยุงในห้อง 50 ตัว ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศได้น่าติดตราตรึงใจมาก 2.เหตุผล...พูดอะไรไม่มีเหตุผลคนเขาไม่เชื่อหรอก ต้องมีอ้างอิงกันบ้าง ไม่ว่าจะยืมชื่อของคนที่น่าเชื่อถือ อ้างอิงงานวิจัย หรือข้อมูลสถิติก็ได้ 3.คนพูดน่าเชื่อถือ... อย่าลืมที่จะแนะนำตัวเองในด้านดี ๆ ให้ดีที่สุด แต่อย่ามากเกินไปเพราะมันจะกลายเป็นคนขี้โม้
เรื่องให้พูดพร้อม... ข้อมูลพร้อม... องค์ประกอบของเรื่องพร้อม แล้วผู้พูดล่ะ?
ชีวิตไม่ได้นั่งรอเฉย ๆ แล้ว Passion จะวิ่งมาหาหรอก มันต้องเกิดจากการลองทำอะไรเยอะ ๆ เพื่อที่จะดูว่าเราชอบอะไรบ้างไม่ชอบอะไรบ้าง ตอนนั้นเรามีโอกาสมั้ย ไหนจะปัจจัยของแต่ละคนอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ สิ่งที่รัก ครอบครัว สุดท้ายแล้วมันก็ตอบตายตัวไม่ได้หรอก เพราะแต่ละคนก็มีวิธีหา Passion ที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ ๆ คือต้องออกไปตามหามัน
รู้จักโครงสร้างของภูเขาน้ำแข็งมั้ย?
4% เป็นส่วนที่เราเห็น และอีก 96% คือส่วนที่จมอยู่
เหมือนชีวิตที่ประสบความสำเร็จของคนคนนึงนั่นแหละ...
กว่าจะได้มามันไม่ใช่แค่ความพยายามที่ต้องมากกว่าคนอื่น มันรวมถึงจังหวะชีวิต ประสบการณ์การทำงาน และอะไรอีกมากมายที่ต้องจ่ายให้กับความสวยหรูที่พวกเราเห็นบนยอดภูเขาน้ำแข็งเหล่านั้น... เพราะงั้น ไม่ใช่ว่าพูดแค่ครั้งเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จ มันต้องพูดหลาย ๆ ครั้ง และต้องฟังให้มากกว่านั้นขึ้นไปอีก
ฟัง...ว่าตัวฉันจริง ๆ แล้วต้องการอะไร
ฟัง...ว่าคนอื่นต้องการจะฟังอะไร
ต่อให้เรามีวาทศิลป์ขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่รู้จักฟังใคร ก็ไม่มีใครฟังเราหรอก และแทนที่จะมานั่งเสียใจว่าทำไมใคร ๆ ก็ไม่ยอมฟังฉัน ก็ให้กลับมามองที่ตัวเองก่อน...ว่าเป็นผู้ฟังที่ดีพอรึยัง
ถ้าอยากให้คนฟังเรา...ก็เริ่มจากการที่เราเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน
ทำไมเราไม่เกลาตัวเองก่อนที่จะเกลาคนอื่น?