เกลานิสัยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวยั่งยืน | พ่อเหว่ง แม่ตุ๊ก Little Monster

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของแม่ตุ๊กพ่อเหว่ง

‘เราทุกคนต่างมีนิสัยที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราจะสามารถเข้าใจและยอมรับส่วนที่ไม่ดีของกันได้มากน้อยแค่ไหน’ คำพูดของคุณพ่อเหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ แห่งเพจครอบครัวสุดดังอย่างเพจ Little Monster ที่นำเสนอเรื่องราวสุดแสนน่ารักและอบอุ่นไปพร้อมกันกับคุณแม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ และสองมอนสเตอร์ตัวน้อยอย่าง ‘พี่จิน’ และ ‘น้องเรนนี่’ ที่มาสร้างสีสันให้ครอบครัวธรรมดา ๆ นั้นดูน่ารักไม่ธรรมดา แต่กว่าที่มาจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งพ่อเหว่งและแม่ตุ๊กก็ต้องผ่านอุปสรรคมามากมายเช่นกัน หลาย ๆ คู่หากมีฐานที่ไม่แข็งแรงและมั่นคงพอ เมื่อเจออุปสรรคก็อาจทำให้ฐานนั้นสั่นคลอนและล้มลงได้ แต่ไม่ว่าจะอุปสรรคใด ๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรทั้งคู่ได้จริง ๆ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ฐานของทั้งคู่นั้นแข็งแรงและมั่นคงจนกำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 13

คำว่านิสัยสำคัญแค่ไหนสำหรับเรา

พ่อเหว่ง : นิสัยน่าจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ทำให้เรานึกถึงเวลาพบปะผู้คน คบเพื่อนคบใครก็ตาม นิสัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ แม่ตุ๊ก : นิสัยเป็นสิ่งที่ตัดสินอนาคตเราได้เลย มันกำหนดการงานเรา คู่ครองของเรา หรือว่าสังคมของเราได้เลยจากนิสัยส่วนตัวของเรา

นิสัยที่เปลี่ยนไปหลังจากมีครอบครัว

พ่อเหว่ง : พี่เคยเป็นคนที่เฮฮา ชอบสังสรรค์ ชอบเจอเพื่อน พูดไร้สาระเยอะกว่ามีสาระ แต่พอมีครอบครัวแล้ว หลาย ๆ อย่างต้องปรับ ในฐานะผู้ชายเราก็จะนิยามตัวเองว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว นิสัยที่เราชอบสังสรรค์ ชอบเจอเพื่อนเราต้องลดลง นิสัยที่พูดเล่นเยอะเกินไป หรือหยาบเกินไป เราต้องเปลี่ยนให้ดีขึ้น

เราไม่สามารถเปลี่ยนตัวตนตัวเองได้ 100% เพราะเราเกิดและอยู่มาแบบนี้ สิ่งที่เราปรับได้คือนิสัยบางส่วนที่เราพอจะปรับได้

แม่ตุ๊ก : เรื่องนิสัยที่จริงแล้วตัวตนของเรามันแก้ยาก มันอาจจะลดทอนได้บ้าง แต่มันก็ยังมีตัวตนและนิสัยของเราลึก ๆ อยู่ บางอย่างมันไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่เมื่อแต่งงาน ต้องใช้ชีวิตคู่กับอีกคนที่มีนิสัยไม่ได้เหมือนเรา หรืออาจไม่ได้เห็นด้วยกับเรา 100% ในทุกเรื่อง เราก็ต้อง ‘เจอกันครึ่งทาง’ ถึงจะอยู่ด้วยกันได้

นิสัยไหนบ้างที่เคยเจอแล้วมันปรับได้

พ่อเหว่ง : นิสัยที่พี่ไม่ค่อยแสดงออกเลยคือนิสัยการแสดงความรัก พี่เป็นครอบครัวคนจีน การโอบกอดแม่จะไม่ค่อยทำ เราจะเป็นคนเก็บ ไม่ค่อยพูด นิสัยที่พี่เปลี่ยนเลยคือพี่แสดงออกมากขึ้น เรากอดกันมากขึ้น พี่ไม่รู้ตุ๊กรู้รึเปล่า แม่ตุ๊ก : รู้ พ่อเหว่ง : ว่าบางทีพี่ก็แอบจับหัวแม่โป้งขาของตุ๊ก แม่ตุ๊ก : อันนี้ไม่รู้ (หัวเราะ)

ทักษะที่ควรจะสนับสนุนกัน

แม่ตุ๊ก : การที่อยู่ด้วยกันมันก็ควรจะสนับสนุนกัน ช่วยเหลือกัน มันเป็นพื้นฐานที่ควรจะมีเมื่อมีครอบครัว แต่เราไม่ได้คิดว่าเรามีอะไรมาเสริมเขา เขามีอะไรมาเสริมเรา เราคิดแค่ว่าเขาแย่เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง วันที่เราแย่เขาอยู่ตรงนั้นแล้วช่วยอะไรเราได้บ้าง

ทักษะการอยู่ด้วยกัน

สุดท้ายแล้วคือเราเข้าใจเขามากแค่ไหน และเขาเข้าใจเรามากแค่ไหน

พ่อเหว่ง : คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน นิสัยก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการอยู่ด้วยกันถ้าเกิดเข้าใจและยอมรับในส่วนไม่ดีได้ โอกาสที่จะอยู่ด้วยกันได้มันมีสูง แต่ก็ต้องเติมส่วนอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ยอมรับและอดทนอย่างเดียว พี่ว่าถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าเราต้องอดทนที่เราต้องอยู่ด้วยกัน พี่ว่านั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี

ในยุคโควิด เปอร์เซ็นต์การหย่าร้างและการทะเลาะกันในครอบครัวค่อนข้างเพิ่มขึ้น มีอะไรแนะนำสำหรับคนที่ต้องอยู่ด้วยกันในช่วงโควิดนี้ไหม

การคิดต่างไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ แต่การ ‘ไม่ยอมรับ’ ให้ความคิดต่างนั่นคือปัญหาที่ใหญ่

พ่อเหว่ง : คนที่เขาหย่ากันปัญหาส่วนหนึ่งอาจมาจากเรื่องอารมณ์ บางทีการอยู่ด้วยกันมาก ๆ มันอาจจะขาดพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง มันเริ่มอึดอัด มันแน่นเกินไป อะไรที่มันแน่นเกินไปมันก็ไม่ดี

ทุกอย่างมันอยู่ที่การ Balance ให้พอดี

แม่ตุ๊ก : มากไปก็อึดอัด น้อยไปก็โหวงเหวง สิ่งสำคัญคือรู้สึกยังไงก็ต้องบอกกัน เพราะถ้าเรายิ่งเก็บ ๆ ไปมันจะระเบิด พ่อเหว่ง : แต่ก็ไม่ใช่อะไรนิดนึงก็ต้องบอกนะ มันจะกลายเป็นขี้บ่น แม่ตุ๊ก : (หันไปมองแล้วหัวเราะ)

“มีเวลาจนไม่มีพื้นที่ส่วนตัว” กับ “ไม่มีเวลาเลย” พี่เหว่ง : พี่ว่าทุกอย่างมันคือเรื่องของการพอดี เช่น กินข้าวอิ่มเกินไปมันก็ไม่ดี กินน้อยเกินไปเดี๋ยวก็หิวอีก เพราะฉะนั้นการอยู่ด้วยกันจนแน่นเกินไปพี่ว่าไม่ใช่สิ่งที่ดี

การตกลงในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นทางออกที่ดี

พ่อเหว่ง : คนแต่ละคนที่ได้อยู่ด้วยกันไม่ได้มีนิสัยเหมือนกัน ถูกเลี้ยงมาไม่เหมือนกัน สุดท้ายคือเราคุยกันว่ายังไง เรากำลังตกลงกันแบบไหน

บางคู่รักเครียดจนตบตีกัน

แม่ตุ๊ก : เรื่องทะเลาะมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคู่อยู่แล้ว เรามองว่าการทะเลาะกัน คุยกัน เคลียกันมันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สำหรับพี่ ‘เรื่องตบตีไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ’ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ พ่อเหว่ง : การทำร้ายอีกคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี ถ้ามีสติพอ มันไม่ควรเกิดขึ้นเลย มันไม่ดีเลย

ณ เวลานั้นที่ไม่มีสติ วิธีที่ช่วยได้โดยการดึงตัวเองออกจากตรงนั้น

วิธีรับมือเมื่อลูกทะเลาะกัน

พี่เหว่ง : ยิ่งมีเด็ก ๆ หลายคน เป็นเรื่องปกติที่จะทะเลาะกันอยู่เเล้ว เพราะเขาพึ่งเกิดมาไม่กี่ปี เขาพึ่งเรียนรู้อะไรได้ไม่กี่อย่าง เพราะฉะนั้นทุกนิสัยที่เขาจะแสดงออกออกมาเราต้องสอน

ให้เหตุผลที่เด็กเข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ใช่เหตุผลแบบผู้ใหญ่ที่คุยกันลึก ๆ

รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

พี่เหว่ง : เมื่อก่อนพี่เข้าใจคำว่า “ตี” ก็คือตีตรงๆ ถ้าวันนี้ไม่ใช่ความหมายว่าการใช้กำลังรุนแรง การโดนตัวแต่อย่างใด แต่หมายความว่าการพูดให้เขาเข้าใจ เหมือนให้ไปกระทบบางอย่างในสมองเขามากกว่า

ให้เขาคิดเป็นด้วย ‘เหตุผล’ ไม่ใช่ ‘กำลัง’

ส่วนรักวัวให้ผูก ก็หมายถึงเราก็ต้องป้องกันก่อน เพราะฉะนั้นการสอนเขาก่อนที่จะเจอเรื่องบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ห้ามทุกอย่าง

เทคนิคสอนลูกให้มีเหตุผล

แม่ตุ๊ก : จริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับตัวพ่อแม่ด้วยว่าบางทีเราสอนเขาแล้วเราเข้าใจในเหตุผลนั้นจริง ๆ หรือเปล่า

สอนด้วย ‘คำพูด’ มันไม่เท่าเรา ‘ทำ’ ให้เขาเห็นด้วย"

การฝึกนิสัยลูกตั้งแต่เด็กสำคัญขนาดไหน

แม่ตุ๊ก : การฝึกนิสัยเขาตั้งแต่เด็กมันง่ายกว่าการรอเขาโตแล้วค่อยไปฝึกเขา พ่อเหว่ง : สอนตั้งแต่วันเด็กมันดีอยู่แล้ว สอนอะไรที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก มันเป็นการปลูกรากฐานที่มันเพาะได้เลย

เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เด็กก็มีนิสัยติดตัวมา เพียงแต่เราจะใส่อะไรเพิ่มเติมแค่ไหน

นิสัยอะไรที่ควรฝึกให้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก

แม่ตุ๊ก : น่าจะนิสัยแยกแยะว่าอะไรถูกผิด พ่อเหว่ง : นิสัยเรื่องของถูก ผิด แยกแยะ ถ้าเขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี เขาก็จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี เพราะเขาจะรู้สึกผิดกับตัวเองและคนรอบข้าง

สมาธิมีผลต่อเด็กมากน้อยแค่ไหน

พ่อเหว่ง : พี่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคเครียดเรื้อรัง ที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นจริง ๆ สิ่งที่หมอบอกคือถ้าคุณฝึกสมาธิจะช่วยได้ มีช่วงหนึ่งที่พี่ทำบ่อยมาก คือมันช่วยได้จริง ๆ การฝึกสมาธินะไม่ใช่นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก วันนึงทำหลาย ๆ ครั้ง นึกได้ก็ทำ

สมาธิช่วยตัดเรื่องฟุ้งซ่านให้ผู้ใหญ่ แต่ช่วยให้เด็กจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ

ถ้าเขาไม่มีสมาธิเขาวอกแวก มันจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ ‘สมาธิสั้น’ แทนที่จะเข้าใจตรงนี้หรือทำตรงนี้ให้เสร็จก่อน ประสิทธิภาพมันจะต่ำ

ให้ลูกเล่นโทรศัพท์เพราะพ่อแม่ไม่ว่าง?

แม่ตุ๊ก : มันอยู่ที่การกำหนดเวลามากกว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้อยู่แล้ว เราต้องอยู่กับมัน แต่ว่าอยู่ยังไงให้มันเหมาะสมในระยะเวลาที่จำกัด

โดยที่บ้านของแม่ตุ๊กกับพ่อเหว่งนั้นจะมีนาฬิกาทรายขนาดเล็กคอยจับเวลาในการเล่นมือถือของเด็ก ๆ ถึงแม้ว่าเด็ก ๆ จะไม่ค่อยชอบใจนาฬิกานี้เสียเท่าไหร่ แต่มันก็เป็นกติกาที่ถูกตั้งไว้และเด็ก ๆ ก็ต้องทำตาม ซึ่งแม่ตุ๊กกับพ่อเหว่งบอกว่ามันช่วยได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเล่นโทรศัพท์ แต่ยังรวมเรื่องของกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะการกินข้าว การเล่นได้อีกด้วย

ให้เขาดูได้ แต่เราต้องรู้ว่าเขาดูอะไร มันเป็นสื่อที่เหมาะกับวัยเขาหรือยัง

เทคนิคแบ่งเวลาให้ลูกเมื่อ Work From Home

แม่ตุ๊ก : พี่ต้องปรับตารางเพื่อให้เข้ากับตารางเรียนของเขา แล้วเวลาที่เขาหลับเขาว่าง เราก็มาทำงานของเรา มันต้องดูตารางของเขาเป็นหลักมากกว่าสำหรับพี่ เพราะพี่ทำงานที่บ้านมันค่อนข้างยืดหยุ่นอยู่แล้ว

ให้กำลังใจให้กับครอบครัวที่กำลังเจอวิกฤต

แม่ตุ๊ก : วิกฤตครั้งนี้เราเผชิญพร้อมกันทุกคนทุกครอบครัว มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราควบคุมได้แค่ตัวเรา เราโฟกัสสิ่งที่เราควบคุมได้ดีกว่าว่าเราทำอะไรได้บ้าง หรือถ้าเราทำอะไรไม่ได้ก็ต้องรอเวลา อยู่กับตัวเอง พี่เชื่อว่าทุก ๆ อย่างมันจะค่อย ๆ ดีขึ้น

ช่วงทิ้งท้ายของการสัมภาษณ์ น้องคนเล็กของบ้านอย่าง ‘น้องเรนนี่’ ก็ได้เข้ามาร่วมเฟรมในการสัมภาษณ์ครั้งนี้กับเราด้วย ซึ่งทำให้ทางเราประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งครัด เขาคงจะตำหนิลูกที่เข้ามาเล่นขณะที่พ่อแม่กำลังทำงานอยู่ แต่พ่อเหว่งและแม่ตุ๊กกลับไม่ใช่เช่นนั้น ทำให้เรารู้สึกได้ว่า แท้จริงแล้วครอบครัว Little Monster นี้ไม่ใช่ครอบครัวที่ต้องการความสมบูรณ์แบบแต่อย่างใด แต่เขาคือครอบครัว ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ที่ ‘ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ’ และนั่นเองคงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ฐานของครอบครัวนี้นั้นมั่นคงแข็งแรง และยิ่งแข็งแรงขึ้นในทุก ๆ วัน

ทำไมเราไม่เกลาตัวเองก่อนที่จะไปเกลาคนอื่น

วันที่:
11 มีนาคม 2564
Writers:
ปัญฑารีย์ ขันชะลีย์ดำรงกุล
 

ร่วมสนับสนุนโครงการเกลา 🥺 ให้อยู่คู่สังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

กด Subscribe 👉🏻 https://bit.ly/3u5JvVI เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนคลิปใหม่ๆ 🔔 กดกระดิ่งแจ้งเตือนคลิปใหม่ๆ ส่งตรงถึงคุณให้ได้รับชมก่อนใคร ติดตาม เกลา นิสัยอันตราย ในโซเชียลอื่นๆ ได้ตามนี้เลยค่ะ
📞 โฆษณาหรือสปอนเซอร์
partner@klao.show
084-645-9656
⭐️ อินฟูเอนเซอร์
info@klao365.org
084-645-9656
🛍️ สั่งซื้อสินค้า
🎁 สนับสนุนโครงการ
💧ธนาคารกรุงไทย 6780224332
ชื่อบัญชี โครงการเกลานิสัยอันตราย โดย น.ส.ปนัดดา ตะโยเค และน.ส.ณัฐณิชา อัศดาสุข
©2017-2021 klao365.org All Rights Reserved.

ติดต่องานโฆษณาหรือสปอนเซอร์เกลา

084-645-9656
sales@klao365.org