เบื้องหลังชีวิตในการมาเป็น Youtuber ของ BoomTharis นิสัยอะไรที่ทำให้มาไกลได้เบอร์นี้

“โลกนี้มันมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเราต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวให้เข้ากับเรา กับอีกอย่างหนึ่งคือ เราปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำหรับเราเรื่องหลังมันง่ายกว่า ถึงแม้ว่าการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมมันจะยาก แต่มันก็ง่ายกว่าการเปลี่ยนสิ่งรอบตัวอยู่ดี”

คำพูดส่งท้ายของคุณบูม-ธริศร ธรณวิกรัย แห่งช่องยูทูป BoomTharis ที่หลายคนคงรู้จัก ‘คุณบูม’ หรือ ‘พี่บูม’ ผ่านหน้าจอกระจกสีดำ ที่เรามักใช้พลังแห่งนิ้วโป้งเลื่อนไถหาคลิปอะไรดู เพื่อหวังจะเพิ่มรอยย่นบนใบหน้าด้วยรอยยิ้ม

ด้วยกระแสนิยมหลาย ๆ อย่าง ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าการเป็น Youtuber ช่างสวยงาม หรูหราและแสนง่ายดาย แต่ชีวิตหลังกล้องที่พี่บูมเล่าให้ฟังในการสัมภาษณ์ครั้งนี้กลับไม่ใช่อย่างนั้น

ชีวิตของ Youtuber ไม่ได้ราบเรียบและหรูหราอย่างที่หลายคนคิด

นิยามตัวเองว่าเป็น Content Cretor หรือ Youtuber

พี่คิดว่าพี่เป็นทั้ง 2 อย่าง แต่อย่างละนิดอย่างละหน่อย เพราะหน้าที่หลักที่ทำในวันนี้ก็คือทำคอนเทนท์บนออนไลน์ เราเริ่มจากที่เราอยากเป็น Youtuber แต่คาแรคเตอร์ในการครีเอทคอนเทนท์ของเรามันอาจไม่ได้ดูเป็น youtuber มากแบบที่หลาย ๆ ช่องเป็น

จุดเริ่มต้นของ BoomTharis

เริ่มจากการที่ ‘ดู’ เยอะ เห็นจาก Youtuber ต่างประเทศเยอะ เราชอบโลกของ YouTube ที่การสื่อสารง่ายเพียงแค่กดอัปโหลด เมื่อ 3-4 ปีก่อนคนไม่ได้ดู YouTube ที่เป็น Youtuber มากนัก คนส่วนใหญ่รอบ ๆ ตัวเรา เขาจะดู YouTube แบบไม่สม่ำเสมอ เช่น จะเลือกดูแค่หัวข้อที่ตัวเองสนใจ ไม่ได้ติดตามช่องใดช่องหนึ่งเป็นหลัก และเราก็เริ่มอยากให้คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เขาหันมาดูสิ่ง ๆ นี้มากขึ้น ตอนแรกเริ่มในช่องก็ไม่ได้มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างขนาดนั้น แต่คอนเทนท์ที่เกิดขึ้นมันเกิดจากความสนใจของเราเองจริง ๆ

คิดว่าตัวเองถ่ายทอดได้ดีระดับไหน

มีคนบอกว่า เราเป็นคนที่สามารถอธิบายเรื่องที่เข้าใจยาก ให้เข้าใจง่ายได้ จริง ๆ เราก็ไม่ได้เข้าใจได้ทุกเรื่องหรอก เราแค่อธิบายในเรื่องที่เราเข้าใจแล้วแค่นั้นเอง

เป็นคนติดหรูไหม?

ไม่เลย จริง ๆ เราก็ใช้ชีวิตแบบคนปกตินี่แหละ เพียงแต่เรารู้สึกว่า ของที่เราไปเจอ เราไม่เคยได้สัมผัสกับของพวกนี้ เราถึงได้ตื่นเต้นกับมัน เราเลยมาเล่าให้คนอื่นฟัง สมมติว่าถ้าเรากินอาหารแพง ๆ ทุกวัน เราก็คงไม่ตื่นเต้นกับมัน เราก็คงคิดว่าคนทั่วไปเขาคงไม่ได้อยากรู้หรอก เพราะมันเป็นเหมือนชีวิตประจำวันเกินไป แต่ด้วยสิ่งที่เสนอออกไปมันดูไม่ใช่ชีวิตประจำวันนี่แหละ เลยอยากให้คนอื่นดู

มีวิธีการเลือกซื้อของยังไง?

เราเป็นมนุษย์แบบหาข้อมูลก่อน เป็นมนุษย์เรื่องมากว่าง่าย ๆ ด้วยนิสัยที่ไม่ได้เชื่ออะไรง่าย ๆ ไม่ได้เชื่อคำพูดของการตลาด พอได้ยินคำโฆษณาสักอย่าง เราก็จะมาคิดดูก่อนอีกรอบหนึ่งว่าจริงหรือเปล่า ไปลองดูก่อน หรือว่าไปลองเห็นของจริงก่อน แล้วเราค่อยคิดอีกที เราก็เลยชอบถ่ายทอดความรู้สึกแบบนี้ไปให้คนดูด้วย

นิสัยพิถีพิถันเริ่มต้นมาจากอะไร

แม่พี่เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็ก ๆ สมมติวันนี้เป็นวันเกิดพี่ แม่ก็จะพาไปซื้อของเล่น ตอนนั้นบ้ากันดั้มมาก ก็จะหยิบกันดั้มมาหนึ่งกล่อง พลิกดู 360 องศา แล้วก็เอากลับไปเก็บ แล้วก็ไปหยิบอันอื่นมาใหม่ เลือกนานมาก คุณแม่เป็นคนคนหนึ่งที่มีอิทธิพลกับเรา คุณแม่เป็นคนละเอียด เลือกของเก่ง ทุกครั้งที่หม่าม๊าบอกว่าเสื้อตัวนี้สวย ทั้งที่เราไม่เคยคิดจะหยิบมาใส่ พอได้ใส่แล้วก็รู้สึก “เออ แม่พูดถูก” (อมยิ้ม)

เป็นคนพิถีพิถันมีผลกระทบยังไงบ้าง

ส่วนหนึ่งส่งผลให้เราเลือกคอนเทนท์ที่จะลงในช่องมากขึ้น เวลาจะทำวิดีโอสักตัว กระบวนการคิดก็จะเยอะหน่อย คิดกลับไปกลับมาว่าวิดีโอนี้คนดูอยากดูไหม ประเด็นในการนำเสนอต้องเป็นยังไง

มีช่วงที่คิด content ไม่ออกไหม

มีอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็ตัน(หัวเราะ) เอาจริง ๆ ถ้านั่งอยู่เฉย ๆ มันคิดไม่ค่อยออกหรอก ส่วนใหญ่ถ้าจะให้คิดออกเราต้องออกไปเจอ ออกไปเห็น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดไม่ออกเราจะหาข้อมูลเพิ่ม เหมือนพอเรารู้สิ่งนั้นรอบด้านมากขึ้น มันจะมีมุมมองให้เราพูดถึงสิ่ง ๆ นั้นมากขึ้นด้วย

ตามเทรนด์หรือเน้นข้อมูลเป็นหลักดี

เรื่องกระแสก็เป็นสิ่งสำคัญในความอยู่รอดของ Youtuber แต่มันรอได้ ทุกอย่างในโลกนี้มันรอได้หมด คนมักบอกว่า “ยุคใหม่มันแข่งที่ความเร็ว” แต่เราเป็นคนประเภทช้าแต่ชัวร์มากกว่า เราเต็มใจที่จะเสพข้อมูลจากคนที่รู้ครบถ้วนมากกว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่เราทำคอนเทนท์ที่ไม่ได้ตามเทรนด์มาก ไม่ใช่ว่าการทำตามเทรนท์มันไม่ดีนะ แต่ถ้าวันไหนที่ความสนใจกับเทรนด์มันมาบรรจบรวมกันได้ คอนเทนท์มันก็ไปได้ดีกว่าอยู่แล้ว

ซูชิร้านไหนอร่อยที่สุด ?

เวลาคนเจอหน้าจะถามพี่ว่า “พี่บูม ซูชิร้านไหนอร่อยสุด” แต่บอกเลยว่าพี่ตอบไม่ได้ เพราะร้านที่เราพาไปกินมันอร่อยสำหรับเรา แต่มันไม่ได้อร่อยสำหรับทุกคนหรอก แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีสถานที่ที่ perfect ที่สุด หรือร้านที่อร่อยที่สุด เวลามีคำถามแบบนี้เราก็จะบอกไปว่า ร้านที่เราเอามาอยู่ในช่อง นั่นคือร้านที่เราแนะนำ แต่ว่าคุณจะชอบรึเปล่า สุดท้ายคุณต้องไปลองดูเอง สมมติว่าพี่บูมเป็นคนกินเค็ม แล้วพี่บูมบอกว่าอันนี้จืด มันอาจจะไม่จืดสำหรับทุกคนก็ได้ คนดูมีหน้าที่มีวิจารณญาณด้วย

สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Youtuber

คนส่วนใหญ่ชอบเข้าใจผิดว่าพวกเราสบาย แต่ทุกคนที่เป็น content creator ไม่มีใครสบาย ทุกคนจะคิดว่า personality (บุคลิกภาพ) ที่อยู่ในวิดีโอ เป็นทั้งหมดของคน ๆ นั้น แต่มันไม่ใช่ ยกตัวอย่างเช่น พี่บี้ the ska เป็นคนที่ตลก ตัวจริงเขาก็ตลก แต่เขาก็มีด้านที่ซีเรียส เพียงแค่เราไม่เห็น

ความลำบากของ Youtuber

ในโลกนี้มี creator สายท่องเที่ยวอยู่เยอะเต็มไปหมด แล้วเราก็จะรู้สึกว่าชีวิตของคนพวกนี้ดีจัง แต่จริง ๆ มันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น ระหว่างคุณไปเที่ยว กับไปเที่ยวแล้วถ่ายไปด้วย แบบหลังมันเหนื่อยและกดดันกว่ามาก ทุก ๆ สถานที่ที่เราไป เราจะต้องคอยคิดว่าฉากนี้เราถ่ายไปหรือยัง? ฉากที่แล้วเราถ่ายอะไรมา? คำพูดมันจะต่อกันไหม? ภาพ insert เก็บหรือยัง? มันมีรายละเอียดที่หลาย ๆ คนไม่ได้นึกถึงว่ากว่าที่มันจะออกมาเป็นหนึ่งคลิปได้ มันมีสิ่งที่เป็น after work เยอะ และบางทีการที่เราเที่ยวไปด้วยแล้วเราทำงานไปด้วย มันก็เที่ยวไม่สนุกอ่ะ แล้วเราก็เกรงใจคนอื่นที่เขาไปกับเรา สมมติว่าคนอื่นจะเดินไปอีกที่ แต่เราบอกว่า “แป๊ปนึงๆ ขอเก็บ insert ก่อน” ทุกคนก็ต้องยืนรอเรา มันคือความลำบากของ Youtuber แหละเราว่า

ถ้า content มีประโยชน์ ก็ตอบโจทย์ตัวมันเองแล้ว

ถ้า content มีประโยชน์ ก็ตอบโจทย์ตัวมันเองแล้ว

ก่อนที่เราจะไปคำนึงว่าคนจะดูหรือไม่ดู เราก็ต้องดูวิดีโอของตัวเองก่อนว่าอันนี้มันเป็น content ที่มีประโยชน์สำหรับใครบางคน ซึ่งใครบางคนที่ได้ดูสิ่งนี้ ต่อให้มันยอดคนดูมันอยู่หลักพันหรือหมื่น มันก็เพียงพอแล้ว

Creator หลายคนจะซีเรียสกับการที่ยอดคนดูตก เคยได้เป็นล้าน มาวันนี้มันเหลือเป็นหลักแสนหลักหมื่น แต่เราอย่าลืมว่าทุกคนมันเริ่มมาจาก 0 เหมือนกัน เราก็เคยไม่มีคนดูมาก่อนเหมือนกัน ดังนั้นเราดีใจกับสิ่งที่เรามีมันก็โอเค

ทำยังไงถ้ายอดวิวน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ถ้ามันเป็นบ่อย ๆ คือมีอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือ content เรามันไม่เวิร์ค สองคือคนดูเขาไม่ได้อยากดู content แบบนี้แล้ว ดังนั้นเราก็ปรับตัวไปตามสภาพ มันเลี่ยงไม่ได้

*คนที่หวังว่าทุกอย่างจะไม่เปลี่ยนแปลง มักจะเจ็บตัวเสมอ

3 สิ่งที่บอกความเป็นตัวเอง

อย่างแรกคือเป็นคนคิดเยอะ บางทีก็คิดเยอะเกิน อันต่อมาไม่รู้ว่าคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าแต่คิดว่าตัวเองเป็นคนยืดหยุ่น เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ไม่ยาก อย่างสุดท้ายคือเป็นคน ‘ช้า’ เพราะเป็นคนคิดเยอะ แต่ละการกระทำที่เราจะแสดงออกไป เราก็จะทบทวนมันก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะ perfect นะ มันก็มีบางครั้งที่เราทำอะไรแล้วเราไม่คิดเหมือนกัน

การคิดเยอะช่วยเรื่องอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเรื่องการทำงาน เวลาออกไปถ่ายรายการหรือทำ content จะคิดสคริปต์ก่อน เป็นคนทำงานช้า เพราะอยากให้งานมันออกมาดี บางวันที่ไปถ่ายแล้วรู้ว่าพรุ่งนี้ต้องตื่นไปถ่ายเช้า บางทีถึงกับยอมนอนน้อย แต่คิดอะไรให้มันเสร็จก่อน

นิสัยอันตรายที่อยากจะเกลา

นิสัยที่เราไม่ได้ชอบมาก มันมาจากการที่เราเป็นคนคิดเยอะ บางทีเรื่องบางมันไม่จำเป็นต้อง perfect บางทีแค่ good enough มันก็พอ แต่บางทีเราไม่พอ บางทีเราไปเสียเวลากับหลาย ๆ อย่าง ยัง prioritize ไม่เป็น ยังลำดับความสำคัญเรื่องในชีวิตไม่เก่ง ทำให้บางทีเราพลาดอะไรหลาย ๆ อย่างไป

วิธีแก้ตอนนี้กำลังทำอยู่ ยังไม่ perfect แต่ก็เริ่มทำแล้ว คือทำการสร้างตารางเวลาของเราขึ้นมา มันจะมีช่องเวลา เราจะเขียนให้ละเอียดที่สุดเพื่อเป็นการจำกัดว่าเรามีเวลาทำสิ่งนี้เท่านี้ หมดเวลาแล้วก็ต้องไปทำอย่างอื่น จะเสร็จไม่เสร็จไม่รู้ เหมือนเป็นการบีบให้ตัวเองทำอะไรให้มันเร็วขึ้น ช่วงแรก ๆ อาจตะกุกตะกักหน่อย แต่ก็ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป

สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการเปลี่ยนนิสัยไหม

จะบอกว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะชีวิตนี้เราก็ไม่ได้อยู่คนเดียว ตารางเวลาของเราก็ไม่ใช่ตารางเวลาของเราคนเดียว แต่ว่าสิ่งที่เราทำก็คือเราสื่อสารกับคนรอบข้างของเรามากขึ้น พยายามให้เขารู้ว่าเขาจะได้เวลาของเขาในตอนไหน แล้วเราขอเวลาของตัวเองในตอนไหน

*ชีวิตคนเราคือเวลาทีเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ถ้าเราบริหารเวลาได้ เราก็บริหารชีวิตตัวเองได้

ปรับตัวเองหรือฝืนตัวเอง

การฝืนตัวเอง คือการที่เรายังไม่เข้าใจมากพอ เวลาที่เราเข้าใจอะไรมาก ๆ แล้ว เราจะพร้อมที่จะเปลี่ยนอยู่เสมอ บางครั้งที่เราเข้าใจบางอย่างไม่มากพอ เราถึงรู้สึกว่าเราไม่ต้องเปลี่ยนตัวเอง เรารู้สึกว่าก็อยู่ได้ การฝืนตัวเอง เราว่ามันคือการที่เราอยากเปลี่ยนนั่นแหละ แต่มันอยู่ในขั้นตอนที่เรากำลังต่อสู้กับมันอยู่ ถ้าไหวก็ไปต่อ ถ้าไม่ไหวก็แค่กลับมาพักก่อน เพราะสุดท้ายเราเชื่อว่าทุกคนมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อย ๆ เราจะพัฒนาไปตามสภาพแวดล้อมนั่นแหละ แต่เราแค่ไม่รู้ตัว บางอย่างเราฝังอยู่ในหัวว่าฉันเป็นแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนคนเดียวกันมันมีบุคลิกภาพซ้อนอยู่ในตัวหลายอย่าง แต่สุดท้ายมันคือว่าเราแสดงออกกับสิ่งแวดล้อมนั้นยังไงมากกว่า

ถ้ามีวิชาเกลานิสัย อยากจะสอนเรื่องอะไร

อยากสอนเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่เราพอจะให้คำแนะนำได้ ต้องทำให้คนเข้าใจได้ก่อนว่าทุก ๆ อย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ ยิ่งเรามีความสามารถในการปรับตัวเองเข้าหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะเท่าไหร่ เราก็จะเสียใจน้อยลง คงต้องบอกสิ่งนี้ให้คนเข้าใจก่อน

สิ่งที่มันยากคือการเอาตัวเองเข้าไปเจอการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ จนมากพอที่จะรู้ว่า “อ๋อ มันไม่มีอะไรเหมือนเดิม“

สุดท้ายนี้เราอยากฝากไปถึง Youtuber หรือ Content creator ทุกคน ว่าสังคมยุคถัดไปอยู่ในมือพวกคุณ และฝากไปถึงคนดูว่าจะเลือกอ่าน เสพ ดูอะไร ให้มี second thought อยู่ในหัวเสมอ ให้ยั้งคิดเสมอว่าสิ่งนี้มันคือ entertainment รูปแบบหนึ่ง สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้มันถูกสร้างมาเพื่อสร้างความสุขให้กับคนดู อย่าไปคิดว่าสิ่งนั้นมันคือชีวิตจริง

ทำไมเราไม่เกลาตัวเอง ก่อนที่จะไปเกลาคนอื่น

วันที่:
25 มีนาคม 2564
Writers:
ปัญฑารีย์ ขันชะลีย์ดำรงกุล
 

ร่วมสนับสนุนโครงการเกลา 🥺 ให้อยู่คู่สังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

กด Subscribe 👉🏻 https://bit.ly/3u5JvVI เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนคลิปใหม่ๆ 🔔 กดกระดิ่งแจ้งเตือนคลิปใหม่ๆ ส่งตรงถึงคุณให้ได้รับชมก่อนใคร ติดตาม เกลา นิสัยอันตราย ในโซเชียลอื่นๆ ได้ตามนี้เลยค่ะ
📞 โฆษณาหรือสปอนเซอร์
partner@klao.show
084-645-9656
⭐️ อินฟูเอนเซอร์
info@klao365.org
084-645-9656
🛍️ สั่งซื้อสินค้า
🎁 สนับสนุนโครงการ
💧ธนาคารกรุงไทย 6780224332
ชื่อบัญชี โครงการเกลานิสัยอันตราย โดย น.ส.ปนัดดา ตะโยเค และน.ส.ณัฐณิชา อัศดาสุข
©2017-2021 klao365.org All Rights Reserved.

ติดต่องานโฆษณาหรือสปอนเซอร์เกลา

084-645-9656
sales@klao365.org