ขอเริ่มเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมก่อนรอใครเปลี่ยน | แพร์ ปภาวี

วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับแพร์ ปภาวี เจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำยา ร้านขายสบู่ แชมพูแบบเติม (Refill Station) ที่มีแนวคิดอยากแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการรณรงค์ให้คนลดการใช้ขวด ให้นำขวดเดิมที่มีอยู่ มาเติมสบู่และแชมพูไปใช้ต่อ โดยไม่ต้องเปลี่ยนขวดใหม่  ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก เธอคนนี้ยังมีแนวคิดอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะ ตามไปดูกันได้เลย

จุดเริ่มต้นของการรักและอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ตอนเด็กเป็นสายเดินป่า เข้าค่ายเจอบุคคลสร้างแรงบันดาลใจ ครั้งแรกที่ได้กลิ่นดิน ครั้งแรกที่เรารู้สึกหนาวเพราะไอของฝน

เราก็รู้สึกเสียดาย ถ้าจะขาดเรื่องเหล่านี้ไปในชีวิต ก็เลยเกิดความรักและหวงแหน

ประกอบกับการที่เราเป็นคนใจร้อน ฉุนเฉียว เมื่อเห็นใครทิ้งขยะลงข้างทางก็จะเริ่มเก็บ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ต้นกำเนิดของการทำ Refill Station

พี่คิดว่าจะใช้ชีวิตทุก ๆ วัน ยังไงไม่ให้เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

คิดว่าประเทศยังขาดโครงสร้างที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

และคิดว่าตัวเองสามารถทำแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรานี่แหละ จึงปลุกความหวังตรงนี้เอาไว้ให้คนเห็นว่ามันก็มีแนวทางนี้

พี่มีเพื่อนไว้คุยเรื่องนี้ ตั้งแต่ทำค่าย ก็พกขวดน้ำของตัวเองมาตลอด

จนถึงวัยนี้ วัยที่พี่คิดว่าอยากทำอะไรสักอย่างให้มันเป็นรูปเป็นร่าง อยากทำธุรกิจอะไรที่มันตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วยให้มันสมดุลกับชีวิตเราคือมีรายได้และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ก็เลยมาจบที่ไอเดีย Refill Station เพราะมันเริ่มได้ง่าย ทำได้เร็ว

ในร้านนอกจาก Refill แล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง ?

มันก็จะมีปัญหาอื่น ๆ อีกที่มันต้องใช้พลาสติกจริง ๆ

เราก็เลยทำเรื่องแยกขยะด้วย เรารับบริจาคขยะแล้วก็รวบรวมส่งไปรีไซเคิล ขยะที่เรารับบริจาคต้องล้างสะอาด พอมันสะอาดมันก็จะกลายเป็นทรัพยากรให้เราเอาไปรีไซเคิลได้

การจัดการขยะแบบง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้

ร้านของเราเป็นคาเฟ่ สิ่งที่มีมากก็คือ Food Waste หรือเศษอาหาร

ทางร้านจะนำขยะพวกนี้ไปทำปุ๋ย ทำดิน เพื่อใช้ปลูกต้นไม้ในร้าน เวลาเราไปซื้อดินจากที่อื่น บางทีคุณภาพดินมันไม่ค่อยดี พอเราทำดินเองได้ นอกจากจะประหยัดก็จะทำให้ต้นไม้โตสวยด้วย

บางอย่างที่พอแยกได้ เช่น สลิปเงิน,ใบเสร็จที่มันรีไซเคิลไม่ได้ เราก็แยกใส่ถุงเอาไว้ต่างหาก หรือว่าจะเอาไว้เขียนโน้ต รียูสก่อน แล้วค่อยเอาไปทิ้ง

เราต้องแยกขยะให้เป็นก่อน ต้องรู้ว่าอะไรขายได้ อะไรขายไม่ได้ อะไรใช้ซ้ำได้ อะไรใช้ซ้ำไม่ได้ ถ้าเข้าใจตรงนี้ ก็จะยั่งยืน เพราะพอเกิดขยะ เราก็จะรู้ว่าจะจัดการกับมันยังไง

ธุรกิจเพื่อสังคม เสี่ยงขนาดนี้ กลัวไหม?

ไม่กลัว เพราะพี่เริ่มทำจากความเสี่ยงล้วน ๆ พี่กำเงินกับเพื่อน แล้วพูดว่า

“อันนี้คือเงินที่เราจะเสียได้ เราทำให้เต็มที่ ถ้าเสียไปเราก็จะไม่เสียใจ เราอยากรู้ว่าไอเดียนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ไหม”

จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังทำงานด้วย Mindset นี้อยู่  เราทำแบบไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าสักเท่าไร แต่เราก็มีภูมิคุ้มกัน เราคิด เราคำนวณ เราวางแผน อาจจะไม่ใช่แผนที่ดีที่สุด แต่เป็นแผนที่เชื่อ และคิดว่าเป็นแผนที่ดีที่สุดอยู่เสมอ เราทำโดยคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ เราอยากทดลองอะไร เราก็เอาเงินจากกำไรที่ได้มา ไปลงทุนในสิ่งที่คิดว่าควรจะทดลอง เพื่อให้เกิดผลในทางที่ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ

ไม่ได้รู้สึกกังวลกับมันมาก ถึงแม้มันจะเป็นธุรกิจหลักเพราะทุกคนต้องมีการกระจายความเสี่ยง การบริหารจัดการตัวเอง อย่างน้อยถ้าตรงนี้ล้ม ก็ยังมีตรงอื่นทดแทนอยู่ได้ เพราะว่าบางคนมาด้วย Mindset ที่ว่า อยากทำสิ่งนี้แล้วก็ตั้งความหวังกับอันนี้ว่ามันจะต้องรอดเท่านั้น มันก็จะตึงไป เราใช้ชีวิตเป็นการทดลองไปเรื่อย ๆ ดีกว่า

พี่ทำ Refill Station พี่ไม่ได้เช่าที่ทำตั้งแต่แรก อาศัยการใช้ที่ร่วมกับธุรกิจที่ทำอยู่กับน้องสาวบางส่วน พนักงานก็ใช้ด้วยกัน แบ่งปันทรัพยากรกัน เพื่อนของพี่ที่ทำ Refill Station ด้วยกัน ก็มีอาชีพของตัวเอง พี่มองว่ามันทำอย่างนี้ได้ เพราะเราจะได้เอาความรู้จากที่ทำงานมาต่อยอดในธุรกิจด้วย

ฝากถึงคนที่อยากทำงานแนวนี้

คนที่ตั้งความหวัง มีความอยากที่เป็นไปไม่ได้และมองไม่เห็นด้วยว่าปัญหาเราคืออะไร

เราจะไม่มีแรงบันดาลใจ เราก็จะตั้งคำถามว่า เราทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร พอเราเริ่มมาค่อย ๆ คิด แล้วพอเริ่มมองเห็นว่าต้นตอของปัญหาจริง ๆ คืออะไร

ทุกคนเห็นมิติไหนให้ทำเลย ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ และมีความลึกตื้นหนาบางเยอะ เราก็ต้องการคนที่เข้าไปจับไปทำงานในทุกมิติจริง ๆ ตอนนี้พี่อยู่ในมิติ support consumer สร้างแรงบันดาลใจ สร้างคำถามให้ เรื่องคำตอบเรายังต้องช่วยกันหาอยู่

การทำงานเพื่อสังคมให้มอง 2 อย่างนี้ มันจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น

  1. ธุรกิจที่เราจะทำมันสร้างกำไรและอยู่ได้จริง
  2. มันสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราเชื่อได้จริง

แล้วหาสมดุลของสองสิ่งนี้

อย่าทิ้งอะไรไป

ถ้าเราทิ้งสิ่งที่เราอยากจะทำ มันจะเสียจิตวิญญาณ

ถ้าทิ้งรายได้ เราจะขาดปัจจัยที่ทำให้เราอยู่รอด

พลาสติกมีคุณค่า แค่ใช้ให้เป็น

พลาสติกเป็นของมีค่า ไม่ใช่ศัตรูของสิ่งแวดล้อม

เราแค่ใช้มันไม่เป็น

เราใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

เราเห็นมันไม่มีคุณค่า

มันสกปรกแล้ว

ทั้ง ๆ ที่ ถ้าเราทำการคัดแยกขยะอย่างดี

มันคือสิ่งที่มีค่า

กว่ามันจะกลายเป็นถุงพลาสติก รู้ไหมมันเกิดมาจากความตั้งใจของคนผลิตพลาสติกที่บอกว่าเราตัดต้นไม้เพื่อมาทำกระดาษเยอะเกินไปแล้ว เรามาผลิตพลาสติกดีกว่า

มันก็เกิดมาจากเจตนาที่ดี ถ้าเรามองเห็นตรงนี้

เราก็จะรักษาถุงพลาสติกใบนี้อย่างดี

ไม่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างน้อยเราก็ใช้ซ้ำ

ถ้ามันจะจากไปด้วยการขาด เราจะหาที่ไปให้มันไปสู่การรีไซเคิลแล้วเกิดใหม่ได้

ถ้าเราเกิดความเห็นอกเห็นใจ เราจะมองเห็นว่าทรัพยากรทุกสิ่ง มันมีคุณค่า

ถ้าเรามองมันเป็นขยะ มันก็จะถูกปฏิบัติอย่างขยะ

มันจะถูกทิ้งลงสู่ทะเล ฝังในดิน แล้วสุดท้ายมันก็จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งสุขภาพของตัวเราเอง สัตว์ต่าง ๆ ที่กินขยะเข้าไป เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ปัญหาที่ดิน ความยั่งยืนทางอาหาร เราจะเห็นว่ามันมีความเกี่ยวพันกันหมดเลย แล้วถ้าวันนึงอาหารที่เรากิน มาจากดินที่ปนเปื้อนไปด้วยพลาสติก มันต้องส่งผลกระทบต่อตัวเราอยู่แล้ว

5 ขั้นตอน จัดการถุงพลาสติกอย่างมีคุณภาพ

  1. เริ่มจากการแยกเศษขยะออกมาจากถุงพลาสติก
  2. ใช้น้ำยาล้างจานกลั้วให้ทั่วถุง
  3. ใช้น้ำล้างจนถุงสะอาด ไม่มีฟอง
  4. นำมาตากไว้ให้แห้ง
  5. นำมาใช้ซ้ำหรือส่งไปให้โครงการที่เขารับบริจาค

ผลกระทบจากการใช้พลาสติกสิ้นเปลือง

เราก็คงต้องสูดอากาศที่มีพลาสติกปนเข้าไป ในปัจจุบัน ไม่ต้องรอให้ถึง 10 ปี หรือ 20 ปีก็ได้ สถานการณ์ที่เลวร้ายคือ พลาสติกมันปนเปื้อนอยู่ในเลือดของคนแล้ว จากการบริโภค มันลอยอยู่ในอากาศของเทือกเขาฝรั่งเศส

นโยบายสิ่งแวดล้อมที่อยากให้เกิดขึ้น

อยากให้มีการรวมตัวคนที่ทำงานในด้านนั้นจริง ๆ

ให้มาร่วมมือกันทำองค์ความรู้ แนวทางในการแก้ไขปัญหา

เราบอกว่าต้องแยกขยะ ยังใช้ถังขียว ถังเหลือง ถังแดง ซึ่งมันไม่เวิร์ค

เราลองมาดูว่า แยกขยะสำหรับโรงเรียน ออฟฟิศ บ้าน ครอบครัวใหญ่ คอนโด แยกยังไง

อยากให้มีคนมารวมกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้ขึ้นมาว่า 'ทำยังไง' แล้วนำไปสร้างให้เป็นระบบออกมาใช้ได้จริง

รักษาสิ่งแวดล้อมยาก แต่เราทำได้

เริ่มจากตระหนักและใส่ใจเรื่องนี้ก่อน ทุกอย่างมันจะมาเอง

เรื่องความรู้ในการจัดการขยะ แล้วเรื่องการแก้ปัญหามันเป็นเรื่องของเด็กยุคใหม่

Gen baby boomer  เขาต่อสู้กับเรื่องเศรษฐกิจ สงคราม

ทว่ารุ่นเรา มันต้องต่อสู้กับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเราอยู่ในยุคที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้

แต่ละคนมีจุดกระตุ้นไม่เหมือนกัน เราก็ทำในทางของเราไป

ถ้าเกิดว่าเราเริ่มทำ คนที่เชื่อเรา คนที่เป็นเพื่อนเรา เป็นครอบครัวเรา ก็จะเปลี่ยนตามเรา

ทุกอย่างที่อยากจะทำ อยากให้อ้างอิงการศึกษาที่ไปค้นมา แล้วหาความรู้อย่างจริงว่าสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหาได้ไหม

อย่างพลาสติกก็มีทางเลือกเยอะ เช่น PLA มันเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ บางคนเห็นว่า มันคือทางออกที่ตอบโจทย์ก็ลงมือทำเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อุตสาหกรรมการรีไซเคิล พลาสติกไม่ใช่ตัวร้ายทุกตัว อย่างขวดพลาสติก เราก็เห็นคนเก็บขวดไปขายเพราะว่ามันขายได้ อันนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครซื้อ แต่พอเราไปใช้ PLA แทนพลาสติกหลาย ๆ ตัว มันจะแยกไม่ออก ว่ามันเป็นพลาสติกตัวไหน ทีนี้ในกระบวนการรีไซเคิล ถ้ามันเข้าไปปน แทนที่เราจะได้พลาสติกคุณภาพดี กลับไปใช้อีกครั้ง มันต้องเปื้อนสิ่งเหล่านี้ไป แล้วหลายประเภทที่เขาไม่รับไปรีไซเคิล  อย่างฝาครอบแก้ว ก็เพราะว่ามันทำได้จากพลาสติกหลาย ๆ ชนิด แยกไม่ออกว่าเป็นพลาสติกชนิดใด ก็เลยไม่ถูกรีไซเคิล

ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พี่ไม่ได้บอกว่า Refill Station คือทางออกที่ดีที่สุด มันเป็นแค่ทางออกทางนึง เราต้องช่วยกัน สำหรับคนที่มองว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมยาก ก็ยากแหละ ถ้ารู้ว่ายาก แล้วเราพร้อมสู้ กล้าที่จะลุยไหม นั่นแหละคือประเด็น

ทำไมต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน

ต้องเริ่มที่ตัวเรา ไม่งั้นมันจะไม่มีศรัทธาเลย

มาบอกให้เราเปลี่ยน คุณยังไม่เปลี่ยนเลย คุณยังไม่เชื่อเลย

บางคนคิดว่า ต้องทำให้ Perfect 100%

ซึ่งมันไม่ใช่ ตอนนี้พี่ก็ยังเรียนรู้อยู่เหมือนกัน พี่เริ่มจากการพกขวดน้ำ แล้วมาทำ Refill Station ตอนนี้ก็เริ่มทำเรื่อง Food waste แยกขยะ มันมีเรื่องต่อยอดไปเรื่อย ๆ

แล้วทุกคนที่ทำเรื่องนี้ เขาเปิดกว้าง พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ พอเราทำอยู่ในวงนี้ มันจะเชื่อมต่อไปอีกวงนึง และอีกวงนึงได้อย่างง่าย ๆ เพราะว่าทุกคนอยู่ในพื้นฐานที่ว่าเรามาสร้างความเปลี่ยนแปลงกัน

วันที่:
9 กรกฎาคม 2563
Writers:
เอกปวีร์ สีฟ้า
 

ร่วมสนับสนุนโครงการเกลา 🥺 ให้อยู่คู่สังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

กด Subscribe 👉🏻 https://bit.ly/3u5JvVI เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนคลิปใหม่ๆ 🔔 กดกระดิ่งแจ้งเตือนคลิปใหม่ๆ ส่งตรงถึงคุณให้ได้รับชมก่อนใคร ติดตาม เกลา นิสัยอันตราย ในโซเชียลอื่นๆ ได้ตามนี้เลยค่ะ
📞 โฆษณาหรือสปอนเซอร์
partner@klao.show
084-645-9656
⭐️ อินฟูเอนเซอร์
info@klao365.org
084-645-9656
🛍️ สั่งซื้อสินค้า
🎁 สนับสนุนโครงการ
💧ธนาคารกรุงไทย 6780224332
ชื่อบัญชี โครงการเกลานิสัยอันตราย โดย น.ส.ปนัดดา ตะโยเค และน.ส.ณัฐณิชา อัศดาสุข
©2017-2021 klao365.org All Rights Reserved.

ติดต่องานโฆษณาหรือสปอนเซอร์เกลา

084-645-9656
sales@klao365.org