ฝึกนิสัยสม่ำเสมอ ต้องฝึกฝนจนกว่า “กล้ามเนื้อ” จะจำได้

ต้องฝึกฝนจนกว่า "กล้ามเนื้อ" จะจำได้ ความจำที่ต้องการความสม่ำเสมอ

"กล้ามเนื้อ" ก็มี "ความจำ" !!!

ทำไมพอเปิดเทอมทีไร เขียนหนังสือไม่คล่องทุกที แต่ไม่นานก็จะกลับมาเขียนได้คล่องเหมือนเดิม หรือแม้ว่าเราจะไม่ได้จับกีตาร์มาเป็นปีแล้ว เรายังจำวิธีเล่นได้และเล่นมันไปเองอย่างอัตโนมัติ

เราเรียกทักษะที่ร่างกายจดจำสิ่งที่เคยทำอย่างต่อเนื่องไว้ว่า Muscle memory หรือ ความจำของกล้ามเนื้อ ศัพท์ทางการแพทย์ใช้คำว่า "Motor memory"

เมื่อเราออกท่าเคลื่อนไหวทำกิจกรรมซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เป็นประจำ สมองจะสร้างความจำขึ้นมาอย่างช้า ๆ ร่วมกันกับระบบกล้ามเนื้อไปด้วย จนกระทั่งเราทำได้โดยอัตโนมัติ ไม่ผ่านการคิดแต่อย่างไร

Muscle Memory ในสมัยก่อนจะพูดถึงการทำงานระบบประสาท กล้ามเนื้อไม่มีความจำแต่อย่างไร แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยมากขึ้นพบว่า สมองกับกล้ามเนื้อทำงานร่วมกัน มีความจำของกล้ามเนื้อบางจำพวกที่เก็บอยู่ในกล้ามเนื้อโดยตรง

ความจำรูปแบบนี้จะเก็บอยู่ในกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ ที่เคยผ่านการฝึกความแข็งแรง เรียกความจำนี้ว่า Epigenetic Memory กล้ามเนื้อจะพัฒนาเนื้อเยื่อให้แข็งแรงขึ้น หากเราห่างเหินจากการเคลื่อนไหวนั้น ๆ แม้ว่ากล้ามเนื้อเราจะถดถอย แต่กล้ามเนื้อเราก็จะรอที่จะช่วยฟื้นฟูความแข็งแรง ที่เคยถดถอยให้กลับคืนมา ในเวลาไม่นาน (ในเวลาที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน)

ส่วนเรื่องของความจำในสมอง จำแนกออกได้ 3 ระบบ คือ

  • ระบบความจำการรู้สึกสัมผัส (Sensory memory)
  • ระบบความจำระยะสั้น (Short-term memory )
  • ระบบความจำระยะยาว (Long term memory)

ซึ่งความจำที่ทำให้เราทำกิจกรรมหรือใช้ทักษะได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องการความคิด เป็นหนึ่งประเภทของความจำระยะยาว โดยความจำระยะยาวมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด

1. Declarative memory

ความจำที่ต้องใช้ความคิด มีสติ ตั้งใจทำ เพื่อนำข้อมูลที่เก็บไว้ในสมอง เรียกออกมาเป็น คำพูด งานเขียน ฯลฯ

2. Reflexive memory

ความจำที่ไม่ต้องผ่านความคิด ทำได้อย่างอัตโนมัติ ความจำชนิดนี้เกิดจากการฝึกฝน ทำซ๊ำบ่อย ๆ ให้สมองจดจำขึ้นมาอย่างช้า ๆ เช่น การขับรถ ที่เราสามารถจดจำ น้ำหนักการแตะเบรค แตะคันเร่ง หรือขับขี่อย่างคล่องแคล่วขึ้น การเล่นกีฬา บาสเก็ตบอล ที่ต้องฝึกกะน้ำหนักการส่งลูก ชู๊ตทำคะแนน หรือการเคลื่อนที่ในสนาม

ดูเหมือนว่าการสร้างนิสัยความสม่ำเสมอ ฝึกซ้อมซ้ำ ๆ เป็นอะไรที่ดูดีมาก และจำเป็นที่จะทำ แต่มันจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าเราแค่ฝึก ๆ ไป หรือทำผิดวิธีจะเกิดการเคยชินแก้ไขยาก

ในหนังสือ Talent is Overrated

กล่าวว่า การแค่ฝึก ๆ ไป จะ 10,000 ชั่วโมง ก็แทบจะไม่มีประโยชน์ หากเราไม่ได้ฝึกฝนอย่างจดจ่อ ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่า เราจะพัฒนาอะไร ไม่ได้ให้ Feedback ตัวเอง ประเมินผลลัพธ์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

ทั้งนี้การที่เราจะสร้างนิสัยความสม่ำเสมอได้ เราต้องอาศัย วินัย ความอดทน และกำลังใจ พอสมควร วินัยที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ความอดทนในการทำซ้ำ ๆ เพื่อเช็คผลที่ทำได้ กำลังใจที่จะไม่ให้เราท้อไปก่อน ที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ดี

ดังนั้นความสม่ำเสมอจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีทักษะความสามารถหรือพัฒนาตัวเอง ได้อย่างคล่องแคล่วเป็นอัตโนมัติ แม้จะขาดการฝึกที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ แล้ว ความสามารถที่เคยมีจะลดลงไป แต่เราก็ไม่ได้เริ่มต้นใหม่จากศูนย์แน่นอน สมองกับกล้ามเนื้อรอวันที่เรามาฟื้นฟูอยู่เสมอ ขอแค่เรามีกำลังใจมากพอที่จะทำมันอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจสอบสิ่งที่ทำ และปรับปรุงแก้ไขต่อไป

แค่ทีมงานเกลาคนนึง เป็นเป็ดตัวเล็ก ๆ ตัวนึง และยังคงต้องพัฒนา ปรับปรุงต่อไปเรื่อย ๆ หวังว่าเรื่องราวที่เราแชร์จะมีประโยชน์ต่อใครหลาย ๆ คน
©2017-2021 klao365.org All Rights Reserved.

ติดต่องานโฆษณาหรือสปอนเซอร์เกลา

084-645-9656
sales@klao365.org